“ท่านทั้งหลายจงไปสั่งสอนนานาชาติให้มาเป็นศิษย์ของเรา ทำพิธีล้างบาปให้เขา เดชะพระนาม พระบิดา พระบุตร และพระจิต” (มธ. 28 : 19 )
ความสำนึกในพระบัญชาของพระเยซูคริสตเจ้าบรรดาสาวกและธรรมฑูตทุกยุคทุกสมัยได้ซื่อสัตย์ในภาระหน้าที่ในการออกไปประกาศข่าวดีแก่มวลมนุษยชาติ ซึ่งเมล็ดพันธุ์แห่งข่าวดีนั้นได้แพร่กระจายมาสู่ภาคอีสานด้วยตั้งแต่ปี 1881 สมัยพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ปกครองมิสซังแห่งกรุงสยาม โดยพระสังฆราชหลุยส์ เวย์ ได้ส่งคุณพ่อยวง บัปติสต์ โปรดม และ คุณพ่อเซเวียร์ เกโก สองธรรมทูตหนุ่มจากคณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส ให้เดินทางไปเผยแผ่ศาสนาที่ภาคอีสาน โดยมีจุดหมายปลายทางที่เมืองอุบลฯ ดังนั้น คุณพ่อทั้งสองพร้อมด้วยครูคำสอน 1 คน และคนงานจำนวนหนึ่งได้ออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 มกราคม 1881 โดยทางเรือจนถึงแก่งคอย และได้เดินทางเท้าจากแก่งคอยผ่านเทือกเขาดงพญาไฟ(ดงพญาเย็น) ซึ่งสมัยนั้นเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการเดินทางของคณะธรรมฑูต เพราะบริเวณเทือกเขาแห่งนี้เต็มไปด้วยสัตว์ร้ายนานาชนิดและไข้ป่า ซึ่งได้พรากชีวิตผู้คนที่สัญจรไป – มาผ่านเทือกเขานี้เสมอ แม้จะมีอุปสรรคนานัปการคณะธรรมทูตก็ไม่ได้ท้อถอยในการเดินทางเพื่อนำเมล็ดพันธุ์ข่าวดีไปหว่านที่เมืองอุบลฯ คณะธรรมฑูตได้เดินทางผ่านเมืองโคราช ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ และถึงเมืองอุบลฯในวันที่ 24 เมษายน 1881 รวมเวลาเดินทาง 102 วัน
เมื่อคณะธรรมฑูตเดินทางมาถึงก็ได้ไปคำนับเจ้าเมือง พร้อมแสดงเอกสารสำคัญจากกรุงเทพฯในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่อนุญาตให้เดินทางมาในภาคอีสานได้โดยเสรี ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่เมืองอุบลฯให้การต้อนรับเป็นอย่างดี เนื่องจากเวลานั้นข้าหลวงใหญ่ไปราชการที่กรุงเทพฯ ผู้ช่วยข้าหลวงใหญ่ ได้อนุญาตให้คณะธรรมฑูตพักในมุมหนึ่งของศาลากลางจังหวัด คุณพ่อได้ทำเพิงที่พักเพิ่มเติมซึ่งอยู่ติดกับมุมนั้นเพื่อเป็นที่ต้อนรับแขก และเป็นผลดีต่อคณะธรรมฑูตในการศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรม ทำให้ได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมทางภาษาซึ่งกันและกันด้วย
ขณะที่คณะธรรมฑูตได้พักที่ศาลากลางจังหวัด ราวเดือนมิถุนายนปีเดียวกันได้มีเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้น กล่าวคือ คุณพ่อได้ช่วยไถ่ทาสสมาชิกครอบครัวหนึ่งซึ่งมีประมาณ 18 คน ที่ถูกชาวพม่า (กุลา) คุมตัวมาจากทางภาคเหนือของไทย เพื่อนำมาขายเป็นทาสที่เมืองอุบลฯ คุณพ่อยวงบัปติสต์ โปรดม ได้สืบสาวราวเรื่องดู แล้วก็ยื่นฟ้องต่อศาลว่า พวกพม่าเหล่านี้เป็นโจร และพวกนี้ได้แอบอ้างเอาชื่อคุณพ่อว่าเป็นผู้สั่งการให้ค้าทาส
ศาลได้สั่งปล่อยทาสครอบครัวนี้ให้เป็นอิสระ ข่าวการปลดปล่อยทาสโดยพระบาทหลวงได้แพร่ออกไปอย่างรวดเร็ว ทำให้บรรดาทาสพากันมาขอความช่วยเหลือจากคุณพ่อเป็นทนายไถ่ทาสให้เป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อคุณพ่อว่าเป็นผู้ ใจดี มีเมตตา มีความยุติธรรม และเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ต่อมาพวกทาสหลายคนได้สมัครเรียนคำสอนกับคุณพ่อด้วย
เมื่อมีผู้สมัครเรียนคำสอนมากขึ้น คุณพ่อได้ขอที่ดินเพื่อเป็นที่พักอาศัยถาวร ซึ่งทางฝ่ายปกครองได้ให้ที่ดินแปลงหนึ่งที่เป็นหมู่บ้านร้างทางทิศตะวันตกเมืองอุบลฯ ชื่อว่า บุ่งกาแซว ปัจจุบันเรียกว่า บุ่งกระแทว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพเพราะเป็นที่รกร้าง มีหนองน้ำนิ่ง มียุงชุม ผู้คนที่อาศัยอยู่ก่อนหน้านี้เกิดการเจ็บป่วยและล้มตายกันมาก ชาวบ้านทั่วไปถือว่าเป็นที่อาศัยของผีร้าย อย่างไรก็ตามคณะธรรมฑูตพอใจที่ดินแปลงนั้น จึงได้ไปซื้อบ้านเก่ามาปลูกทำเป็นบ้านพักและโรงสวดชั่วคราว
วันที่ 17 ตุลาคม 1881 คณะธรรมฑูตได้ย้ายไปอยู่ที่นั่นพร้อมกับกลุ่มคนที่เรียนคำสอน ประมาณ 30 คน ชาวอุบลฯ คิดว่ากลุ่มนี้จะอยู่ที่นี่ได้ไม่นานเพราะผีดุร้าย ซึ่งเป็นวิธีบังคับให้พวกเขาหนีไป ภายหลังต้องประหลาดใจเมื่อเห็นว่าทุกคนที่นั่นมีสุขภาพดี ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยแต่อย่างใด ชาวอุบลฯจึงเชื่อว่าบาทหลวงมีอำนาจเหนือผี ด้วยเหตุนี้ บริเวณบ้านบุ่งกระแทวได้กลายเป็นศูนย์แรกของคริสตชนในภาคอีสาน และเป็นที่ตั้ง “มิสซังใหม่” แต่เนื่องจากมิสซังใหม่ต้องขึ้นกับพระสังฆราชแห่งกรุงสยาม คุณพ่อยวง บัปติสต์ โปรดม จึงต้องเดินทางกลับกรุงเทพฯ ทุกๆ ปี เพื่อรายงานการปฏิบัติงานต่อพระสังฆราชและรับคำแนะนำจากท่าน พร้อมทั้งนำสัมภาระที่จำเป็นกลับมาด้วย ทุก ๆ ครั้งที่คุณพ่อยวง บัปติสต์ โปรดม เดินทางกลับจากกรุงเทพฯ พระคุณเจ้าหลุยส์ เวย์ จะส่งธรรมฑูตใหม่ทั้งที่เป็นพระสงฆ์และครูคำสอนมาร่วมงานเสมอ ตามข้อมูลพบว่าในปี 1897 มิสซังใหม่นี้มีพระสงฆ์จำนวน 20 องค์
ระยะแรกในการทำงาน บรรดาคุณพ่อตระหนักเสมอว่า “การสอนคำสอนและการประกาศข่าวดี” เป็นงานที่สำคัญที่สุด ดังนั้นเมื่อย้ายที่พักมาอยู่ที่บุ่งกระแทวแล้ว คณะธรรมฑูตจึงได้ลงมือสอนคำสอนทันที พร้อมกันนี้ได้รับเด็กกำพร้ามาเลี้ยงดูและให้การอบรม สอนพวกเขาให้อ่านออก – เขียนได้ และเพื่อให้กิจการต่าง ๆ ดำเนินไปด้วยดี จำเป็นต้องมีผู้ร่วมงาน เวลานั้นได้มีอดีตหญิงทาส 2 คนพี่น้อง มาช่วยงานคณะธรรมฑูต
ในปี 1883 มิสซังได้ปลูกเรือนหลังหนึ่งให้เป็นโรงเลี้ยงเด็กกำพร้า โดยมอบให้หญิงผู้เป็นพี่รับหน้าที่ดูแลกิจการทั่วไปของวัด และอบรมเลี้ยงดูเด็กกำพร้าด้วย ส่วนผู้น้องให้สอนหนังสือเด็กหญิง 20 คน (โดยใช้อักษรโรมัน) และสอนคำสอนเบื้องต้นแก่เด็กเหล่านั้นด้วย จึงนับได้ว่าเรือนหลังนี้เป็น “โรงเรียนคาทอลิกแห่งแรกในภาคอีสาน” ต่อมาหญิงผู้เป็นพี่ได้ลาออกจากงานของมิสซัง เพื่อไปอยู่กับสามีที่หนีจากการถูกจับเป็นทาส ส่วนผู้น้องได้ทำหน้าที่แทนจนกระทั่งถึงเวลาแต่งงานจึงได้ลาออกไป
ต่อมาในปี 1889 มีภคินี 3 รูป จากอารามบางช้าง (สมุทรสงคราม) ได้สมัครมาทำงานเผยแพร่ในมิสซังใหม่นี้ จึงได้รับหน้าที่ต่าง ๆ แทนสองคนพี่น้องนั้น คณะธรรมฑูตได้มองไกลไปว่าหากจะให้กิจการแพร่ธรรมก้าวหน้าอย่างมั่นคง จำเป็นจะต้องมีผู้อำนวยการของมิสซังอย่างถาวรด้วย คณะธรรมฑูตจึงได้เสนอให้จัดตั้ง “อารามภคินีรักกางเขน” ขึ้นที่บุ่งกระแทวโดยเปิดบ้านผู้ฝึกหัดก่อน ในปลายปี 1889 มีผู้สมัครเข้าอาราม 18 คน
การทำงานแพร่ธรรมในสมัยนั้น บรรดาธรรมฑูตได้ใช้ม้า เกวียน เรือ และการเดินทางเท้า แต่ส่วนใหญ่จะใช้ม้าเป็นพาหนะ ดังนั้นม้าจึงนับว่าเป็นพาหนะที่จำเป็นในการแพร่ธรรม ในปี 1894 เมื่อจำนวนคริสตชนเพิ่มมากขึ้น คุณพ่อยวงบัปติสต์ โปรดม ก็ตัดสินใจสร้างวัดเป็นอิฐถือปูนหลังแรก บรรดาคริสตชนได้ช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่จนสำเร็จ และทำพิธีเสกเมื่อวันที่ 16 มกราคม 1898 ในระยะแรก บรรดาคุณพ่ออยู่ในสภาพยากจนที่สุด เงินที่พระสังฆราชแห่งกรุงเทพฯแบ่งให้มิสซังอีสานนั้นมีน้อย ต้องใช้ในการเลี้ยงพระสงฆ์ ซิสเตอร์ ครูคำสอน เด็กกำพร้า การเดินทาง สร้างที่พัก รักษาผู้ป่วย และอุดหนุนองค์กรต่าง ๆ บรรดาทาสที่ถูกปล่อยมาและขออาศัยอยู่กับคุณพ่อก็มามือเปล่า คุณพ่อต้องเลี้ยงดู ให้เครื่องนุ่งห่ม ให้ยืมเงินล่วงหน้าเพื่อซื้อเครื่องมือทำมาหากิน โดยเฉพาะที่อุบลฯลำบากกว่าที่อื่น ๆ เพราะไม่มีนา ต้องไปหาซื้อข้าวจากทางไกล และในปี 1899 ทางมิสซังจำเป็นต้องสั่งให้ผู้ฝึกหัดในอารามภคินีอุบลฯกลับบ้านหมด เพราะมิสซังไม่มีเงินซื้ออาหารเลี้ยง และเนื่องจากพระสงฆ์มีน้อย งานขยายออกไปมาก การเดินทางก็ลำบาก ซึ่งทางศาสนาในสมัยนั้นถือว่ามิสซังใหม่นี้เป็นมิสซังลาว ประกอบด้วยพื้นที่ภาคอีสานทั้งหมดและประเทศลาว อย่างไรก็ตามบรรดาคุณพ่อก็ได้เปิดวัดหลายแห่ง เช่น ที่บ้านบัวท่า วังกางฮุง สีถาน เซซ่ง บ้านเอือด บ้านดอนเปือย บ้านนาดูน และบ้านหนองช้าง ทางตอนเหนือของภาคอีสาน คือ บ้านจันทร์เพ็ญ คำเต่า เชียงยืน หนองแสง สองคอน เวียงคุก นาบัว โพนสูง ช้างมิ่ง นาคำ หนองโคก นาโพธิ์ กุดจอง ทุ่งมน นาลากควาย นาใน นาท่อน กุดสิบ และบ้านนามน ในประเทศลาว แก้งสะดอก ดอนโดน ปากซัน ดงหมากบ้า ปังกิ่ว เชียงหวาง จำปาศักดิ์ ท่าแดง ห้วยยาง ปากเซบังเหียน บ้านซีมัง หนองบัวฮี และบ้านดงซอก ปัจจุบันหลายวัดที่กล่าวมานี้ได้ปิดลงแล้วเนื่องจากลูกวัดย้ายไปอยู่ที่อื่น ขณะนั้นที่อุบลฯมีผู้เข้าศาสนานับตามบัญชีวัดได้ 6,000 คน
ในปี 1953 พระสันตะปาปาปีอุส ที่ 12 (Pope Pius XII) ประกาศแต่งตั้ง 3 มิสซังทางภาคอีสาน ได้แก่
- มิสซังท่าแร่ - หนองแสง
- มิสซังอุดรธานี
- มิสซังอุบลราชธานี ซึ่งประกอบไปด้วย อุบลฯ ศรีสะเกษ สุรินทร์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา โดยมอบหมายให้พระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีสเป็นผู้ดูแล โดยมิสซังอุบลฯ แยกจากมิสซังท่าแร่ เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 1953
ต่อมาในปี 1965 พระสันตะปาปาได้ประกาศให้ เขตแพร่ธรรมนครราชสีมาเป็น “มิสซังใหม่” ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ และชัยภูมิ ในปี 1981 จัดสมโภช 100 ปีแห่งการประกาศข่าวดีในเขตอีสานใต้นี้ โดยมีนโยบายฟื้นฟูชีวิตคริสตชนทุกฐานันดรมากกว่าพิธีการภายนอก เช่น เชิญพระสงฆ์คณะพระมหาไถ่มาอบรมฟื้นฟูจิตใจในแต่ละวัด มีการแห่พระรูปแม่พระไปตามวัดต่าง ๆ เพื่ออวยพระพร ให้ความคุ้มครองจากพระแม่ และเตือนใจสัตบุรุษให้มีความศรัทธาต่อพระแม่มากยิ่งขึ้น และได้ประกาศแต่งตั้งสภาอภิบาลสังฆมณฑลขึ้น เพื่อให้สมาชิกของวัด โดยเฉพาะฆราวาสมีส่วนร่วมในงานอภิบาลมากยิ่งขึ้น
ในปี 2006 โอกาสฉลอง 125 ปีพระศาสนจักรสังฆมณฑลอุบลฯ ได้เน้นการอบรมเพื่อให้คริสตชนทุกคนมี “ความเชื่อแบบผู้มีวุฒิภาวะอย่างเป็นรูปธรรม” ยึดพระวาจาและศีลมหาสนิทเป็นศูนย์กลางในการดำเนินชีวิต ทั้งส่วนตัว ครอบครัว และชุมชน เพื่อจะได้เป็นประจักษ์พยานถึงพระคริสตเจ้าท่ามกลางสังคมปัจจุบัน
ลำดับพระสังฆราชผู้ปกครองสังฆมณฑลอุบลราชธานี ได้แก่
- พระสังฆราชเกลาดิอุส บาเย ปกครองสังฆมณฑลตั้งแต่ปี 1953 – 1970 (พ.ศ.2496 - 2513)
- พระสังฆราชแยร์แมง แบร์ทอลด์ ปกครองสังฆมณฑลตั้งแต่ปี 1970 - 1976 (พ.ศ. 2513 - 2519)
- พระสังฆราชมีคาแอล บุญเลื่อน หมั้นทรัพย์ ปกครองสังฆมณฑลตั้งแต่ปี 1976 – 2006 (พ.ศ. 2519 -2549 )
- พระสังฆราชฟิลิป บรรจง ไชยรา ปกครองสังฆมณฑล ค.ศ.2006 – 2023
- พระสังฆราชสเตเฟน บุญเลิศ พรหมเสนา ปกครองสังฆมณฑล ค.ศ.2023-ปัจจุบัน
สังฆมณฑลอุบลราชธานี ประกอบด้วยพื้นที่ 7 จังหวัด คือ อุบลราชธานี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และ จ. สุรินทร์ มีประชากรทั้งสิ้น 7,927,476 คน จำนวนคาทอลิก 24,360 คน มีพระสงฆ์สังฆมณฑลฯ 33 องค์ พระสงฆ์คณะมิสซังต่างประเทศแห่งกรุงปารีส 4 องค์ คณะนักบวชที่ทำงานในสังฆมณฑลมีดังนี้ คณะรักกางเขนแห่งอุบลฯ (เริ่มปี ค.ศ. 1889) คณะนักบุญยอแซฟแห่งการปร ะจักษ์ (เริ่มปี ค.ศ. 1961) คณะภราดาเซนต์คาเบรียล (เริ่มปี ค.ศ. 1965) คณะนักบุญฟรังซิสกันแห่งแม่พระผู้ปฏิสนธินิรมล (เริ่มปี ค.ศ. 1987) คณะเซนต์ปอล เดอ ชาร์ตร (เริ่มปี ค.ศ. 2003) และคณะพระแม่มารีย์ (เริ่มปี ค.ศ. 2018)
ปัจจุบันสังฆมณฑลอุบลราชธานี ย่างเข้าปีที่ 140 (1881-2021) จากกฎีกาสมัชชาใหญ่พระศาสนจักรในประเทศไทย สู่แผนยุทธศาสตร์ฟื้นฟูการประกาศข่าวดีขึ้นใหม่ของสังฆมณฑลอุบลราชธานี คริสตศักราช 2016 สานต่องานความรอดพ้น เป็นเครื่องหมายและเครื่องมือ เพื่อพระอาณาจักรพระเจ้า ประกาศข่าวดีใหม่ ดังวิสัยทัศน์และพันธกิจที่ว่า